อาหารผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วยโรคไต อาหารประเภทไหนที่ควรรับประทานและหลีกเลี่ยง การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นอีกหนึ่งทางเลือกจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัวยิ่งต้องดูแลใส่ใจเรื่องพฤติกรรมการรับประทานอาหารเป็นพิเศษ ในแต่ละวันควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และระมัดระวังในการเลือกชนิดอาหาร วันนี้นำ 5 อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต มาฝากกันค่ะ รวมถึงอาหารที่ผู้ป่วยโรคไตต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือมีอาการแย่ลงกว่าเดิม
โรคไต (Kidney disease)
โรคไต เกิดจาก ความผิดปกติของไตที่ไม่สามารถกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้ โดยปกติทั่วไปไตมีหน้าที่คัดกรองสารอาหารต่าง ๆ ภายในเลือดและกำจัดของเสียจากเลือดและน้ำส่วนเกินออกมาในรูปแบบปัสสาวะ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ปัสสาวะได้น้อยลง เป็นต้น
อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต
การรับประทานอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยชะลอความเสื่อมของไตได้ นอกจากนี้คุณควรปรึกษาแพทย์และนักโภชนาการเพื่อรับคำแนะนำในการรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับโรค เช่น การจำกัดปริมาณฟอสฟอรัสและแคลเซียม ลดการบริโภคโพแทสเซียม เป็นต้น
5 อาหารเพื่อสุขภาพ สำหรับผู้ป่วยโรคไต
การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อไต อาจช่วยให้ไตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยชะลอและลดความเสื่อมของไต ซึ่งอาหารที่มีประโยชน์ต่อไต มีดังต่อไปนี้
1. ปลากะพงขาว
ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคไต การรับประทานปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 จะช่วยลดระดับไขมันในเลือดและควบคุมความดันโลหิต แต่ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไปเพื่อรักษาระดับฟอสฟอรัสในร่างกาย
ปลากะพงขาวสุก ปริมาณ 85 กรัม ประกอบด้วย
โซเดียม 74 มิลลิกรัม
โพแทสเซียม 279 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 211 มิลลิกรัม
2. องุ่นแดง
นอกจากรสชาติที่อร่อย หวาน ขององุ่นแดงแล้ว ยังอุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ มีวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระ ที่เรียกว่า สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบ และยังมีประโยชน์ต่อการบำรุงสุขภาพหัวใจ
องุ่นแดง ปริมาณ 75 กรัม ประกอบด้วย
โซเดียม 1.5 มิลลิกรัม
โพแทสเซียม 144 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 15 มิลลิกรัม
3. ไข่ขาว
ถึงแม้ว่าไข่แดงจะอุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าไข่ขาว แต่ไข่แดงมีปริมาณฟอสฟอรัสสูงกว่า การเลือกรับประทานไข่ขาวจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า ไข่ขาวอุดมไปด้วยโปรตีนซึ่งมีประโยชน์อย่างมากต่อการบำรุงไต โดยเฉพาะในผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยการฟอกไต ซึ่งมีความต้องการสารอาหารประเภทโปรตีน
ไข่ขาว 2 ฟองใหญ่ ปริมาณ 66 กรัม ประกอบด้วย
โซเดียม 110 มิลลิกรัม
โพแทสเซียม 108 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 10 มิลลิกรัม
4. กระเทียม
ผู้ที่เป็นโรคไตจำเป็นต้องจำกัดปริมาณโซเดียมเพื่อไม่ให้ไตทำงานหนัก การรับประทานกระเทียมจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยเพิ่มรสชาติอาหารแทนเกลือหรือน้ำปลา นอกจากนี้กระเทียมยังอุดมด้วยวิตามินซี และวิตามินบี6 ซึ่งมีสารประกอบที่เรียกว่า กำมะถัน มีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ
กระเทียม 3 กลีบ 9 กรัม ประกอบด้วย
โซเดียม 1.5 มิลลิกรัม
โพแทสเซียม 36 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 14 มิลลิกรัม
5. น้ำมันมะกอก
น้ำมันมะกอกเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพในการนำมาปรุงอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต เพราะ น้ำมันมะกอกมีไขมันอิ่มตัวเชิงเดียว ที่เรียกว่า กรดโอเลอิก (Oleic acid) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ
น้ำมันมะกอก 1 ช้อนโต๊ะ ปริมาณ 13.5 กรัม ประกอบด้วย
โซเดียม 0.3 มิลลิกรัม
โพแทสเซียม 0.1 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 0 มิลลิกรัม
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ป่วยโรคไต
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ป่วยโรคไต มีดังนี้
อาหารที่มีปริมาณฟอสฟอรัส และแคลเซียมสูง
การรับประทานอาหารที่มีปริมาณฟอสฟอรัสสูง อาจทำให้ไตเสื่อมสภาพได้ไวยิ่งขึ้น เช่น
– ผลิตภัณฑ์ประเภทนม
– พืชตระกูลถั่ว
– ธัญพืช
– เนื้อสัตว์ตระกูลสัตว์ปีกและปลา
อาหารที่มีปริมาณด้วยโพแทสเซียมสูง
ถึงแม้ว่าโพแทสเซียมจะมีส่วนช่วยบำรุงระบบประสาทและกล้ามเนื้อ หากคุณเป็นโรคไตการบริโภคอาหารที่มีปริมาณโพแทสเซียมสูงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนนำไปสู่โรคหัวใจได้ เช่น
– มะเขือเทศ
– แครอทดิบ
– ตระกูลผักใบเขียว (ยกเว้นผักคะน้า)
– แตงโม
อย่างไรก็ตามแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วอาหารบางชนิดจะช่วยบำรุงไตให้แข็งแรง แต่ก็ไม่ได้เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคไตทั้งหมด ดังนั้นคุณควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง